Info

โครงงานนักศึกษาหลักสูตร DIM ได้รับคำชื่นชมจาก สำนักศิลปากรที่ 12 นครศรีธรรมราช

สำนักงานศิลปากรที่ 12 นครศรีธรรมราช ชื่นชมโครงงานของนางสาวมัลลิกา รอดทองเสน ชื่อโครงงาน การพัฒนาสื่อแผนที่แบบมีปฏิสัมพันธ์เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมโบราณสถานเขาคา อำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นผลงานในรายวิชา DIM-494 โครงงานด้านการจัดการสารสนเทศดิจิทัล ซึ่งได้นำความรู้ทางด้านเทคโนโลยีดิจิทัล AR(Augmented Reality)มาประยุกต์ใช้ เพื่อเป็นการเผยเเพร่ สร้างการรับรู้ เเละทำให้ผู้ที่สนใจสามารถเข้าถึงเเหล่งโบราณสถานได้อย่างรวดเร็ว เเละทำให้โบราณสถานเป็นเเหล่งเรียนรู้ที่มีชีวิตเเละเพิ่มความน่าสนใจได้อีกด้วย

โบราณสถานเขาคา ตั้งอยู่ที่บ้านเขาคา หมู่ที่ ๑๑ ตำบลเสาเภา อำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นศาสนสถานเนื่องในศาสนาพราหมณ์ลัทธิไศวนิกาย สร้างขึ้นบนภูเขาลูกโดดขนาดเล็ก มีคลองท่าทนไหลผ่านทางด้านทิศเหนือ การสร้างศาสนสถานบนเขาคา สันนิษฐานว่ามาจากความเชื่อทางศาสนาพราหมณ์ในเรื่องศูนย์กลางของจักรวาลอันมีเขาพระสุเมรุเป็นศูนย์กลาง โดยการสถาปนาเขาคาเป็นจุดศูนย์กลาง และโบราณสถานขนาดเล็กกระจายตัวอยู่รอบเขาเป็นบริวาร

หลักฐานทางโบราณคดีที่สำคัญ ได้แก่ โบราณสถานจำนวน ๕ หลัง ได้แก่ โบราณสถานด้านทิศเหนือ ซึ่งมีลักษณะการก่อสร้างโดยการนำเศษหินมาก่อเป็นแนวคล้ายกำแพงแก้วเพื่อกำหนดขอบเขตศาสนสถาน มีผังขอบเขตเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส และมีร่องรอยของการกะเทาะก้อนหินธรรมชาติขนาดใหญ่ให้มีรูปร่างคล้ายศิวลึงค์ แล้วนำก้อนหินมาก่อล้อมรอบไว้ และโบราณสถานด้านทิศใต้ จำนวน ๔ หลัง ได้แก่ โบราณสถานหมายเลข ๑ – ๔ โดยสันนิษฐานว่าโบราณสถานหมายเลข ๒ เป็นเทวาลัยประธานที่มีความสำคัญที่สุดในจำนวนโบราณสถานทั้งหมดที่พบบนเขาคา นอกจากนี้ยังพบร่องรอยของสระน้ำโบราณบนเขาคา จำนวน ๓ สระ ลักษณะเป็นสระรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่เกิดจากการปรับปรุงร่องเขาขนาดเล็กระหว่างลาดเขาให้เป็นแหล่งกักเก็บน้ำโดยการก่อเป็นคันหินล้อมรอบ ส่วนโบราณวัตถุที่สำคัญอื่น ๆ ที่พบบนเขาคา ได้แก่ โกลนศิวลึงค์ศิลา ฐานโยนิ ฐานรูปเคารพ ชิ้นส่วนจักรทำด้วยหินทราย สถูปจำลองดินเผา ตะคันดินเผา และเศษภาชนะดินเผา จากหลักฐานที่พบ แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของโบราณสถานเขาคาในฐานะศาสนสถานเนื่องในศาสนาพราหมณ์ลัทธิไศวนิกายที่สำคัญมากที่สุดแห่งหนึ่งของภาคใต้ ที่เจริญรุ่งเรืองอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๒ – ๑๔

สำนักศิลปากรที่ ๑๒ นครศรีธรรมราช ขอขอบคุณนางสาวมัลลิกา รอดทองเสน นักศึกษาหลักสูตรการจัดการสารสนเทศดิจิทัล สำนักวิชาสารสนเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ที่ได้สร้างสรรค์โครงงานในการเผยแพร่ข้อมูลโบราณสถานผ่านสื่อดิจิทัลได้อย่างน่าสนใจ

Facebook Comments Box