ตามประกาศของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เรื่อง การแพร่ระบาดของเชื้อไว้รัส COVID-19 ได้ประกาศให้เป็นโรคติดต่ออันตรายร้ายแรง ซึ่งทางสาขาวิชาการจัดการสารสารสนเทศ โดยหลักสูตรการจัดการสารสนเทศดิจิทัล และหลักสูตรดิจิทัลคอนเทนต์และสื่อ ได้ให้ความสำคัญกับผู้เรียน และคณาจารย์ภายในสาขาวิชา โดยได้นำมาตรการของทางกระทรวงฯ และมหาวิทยาลัยมาปรับใช้ โดยการปรับรูปแบบการเรียนการสอนในรูปแบบปกติ เปลี่ยนเป็นการเรียนการสอนในรูปแบบออนไลน์ เพื่อเป็นการป้องกันการเผยแพร่ของเชื้อไว้รัส COVID-19 ซึ่งโอกาสนี้ทางหลักสูตรได้นำข้อมูลเกี่ยวกับเครื่องมือต่างๆที่จะนำมาใช้ในการเรียนการสอนแบบออนไลน์มาแนะนำเพื่อให้ทุกคนสามารถนำเครื่องมือเหล่านี้ไปประยุกต์ในการเรียนการสอนรูปแบบออนไลน์ได้อย่างเหมาะสมกับรายวิชา
1. Microsoft Teams
Microsoft Teams เป็นซอฟต์แวร์สำหรับการติดต่อสื่อสารภายในทีม ที่สามารถแบ่งผู้ใช้งานออกเป็นห้องได้ เช่น ห้องสำหรับทีมโปรแกรมเมอร์ ทีมพีอาร์ ทีมดีไซน์เนอร์ เป็นต้น รองรับสมาชิกไม่จำกัด (สำหรับแพลน Office 365 E3) สามารถสนทนา 1 ต่อ 1 ทั้งแบบเสียงและแบบวิดีโอได้ แต่หากต้องการประชุมสายต้องใช้แพลน Office 365 Business ขึ้นไป โดยรองรับสูงสุด 250 คนพร้อมกัน จุดเด่นของการสนทนาแบบวิดีโอคือสามารถบันทึกวิดีโอเก็บไว้ได้, มีการแพนกล้องหรือซูมไปหาผู้พูดโดยอัตโนมัติ, เบลอพื้นหลังออกไปได้ เป็นต้น นอกจากนี้ Microsoft Teams ยังรองรับการทำงานร่วมกับบริการภายนอกอื่น ๆ มากกว่า 250 บริการ เช่น Asana, Trello, Zenkit, Intercom, Zendesk, Jira และบริการของไมโครซอฟต์เองอย่าง Word, SharePoint และ PowerBI เป็นต้น Microsoft Teams ยังรองรับการเพิ่มผู้ใช้นอกองค์กรเข้ามาภายในทีมเพื่อเข้าถึงการสนทนาทั้งข้อความและการโทร เอกสาร และไฟล์ต่าง ๆ ได้
Microsoft Teams ถือเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจด้วยความที่มีคุณสมบัติค่อนข้างครบครันอยู่แล้วในแพลนฟรี และหากในองค์กรใช้ Office 365 อยู่แล้ว Microsoft Teams ก็จะเป็นตัวเลือกที่คุ้มค่าเนื่องจากไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม
2. Slack
Slack เป็นซอฟต์แวร์สำหรับการติดต่อสื่อสารที่โฆษณาว่าต้องการจะมาแทนที่อีเมลสำหรับการสื่อสารภายใน สามารถแบ่งสมาชิกออกเป็นห้อง ๆ ได้ สามารถปักหมุดข้อความไว้ด้านบนสุดได้ สามารถโทรด้วยเสียงหากันแบบ 1 ต่อ 1 ได้ หรือถ้าหากต้องการประชุมสายหรือสนทนาแบบวิดีโอจะต้องอัปเกรดแพลนเป็น Standard ขึ้นไป Slack รองรับการทำงานร่วมกับบริการอื่นมากมายกว่า 2,000 รายการ เช่น Asana, Trello, Jira, IFTTT, Zoom, Dropbox และ Google Drive เป็นต้น ถือว่ารองรับเยอะกว่า Microsoft Teams อย่างมาก
Slack รองรับเพิ่มลูกค้าหรือบุคคลภายนอกเข้ามาสนทนาภายใน Slack ขององค์กรและเข้าถึงไฟล์ร่วมกันได้
3. Zoom
Zoom เป็นบริการสำหรับการประชุมโดยเฉพาะ สามารถสร้างการประชุมแบบเสียงหรือวิดีโอได้ในความละเอียดระดับ HD รองรับการแชร์หน้าจอหลายจอพร้อมกัน มีระบบสลับภาพไปหาผู้พูดอัตโนมัติ รองรับการบันทึกการสนทนาเป็นวิดีโอ จุดเด่นคือผู้ร่วมประชุมสามารถเข้าร่วมประชุมได้ทันทีโดยไม่ต้องมีบัญชีของ Zoom โดยในแพลนฟรีรองรับการซูมพร้อมกันสูงสุด 100 คน แต่มีการจำกัดระยะเวลาการประชุมไว้ที่ 40 นาทีต่อครั้ง นอกจากนี้ยังมีฟีเจอร์อื่น ๆ อย่างการแบ่งห้องประชุมออกเป็นห้องย่อย ๆ, มีระบบการยกมือเพื่อแสดงตนว่ามีคำถาม, มีกระดานไวท์บอร์ดในตัว, สามารถแชร์หน้าจอของ iPhone และ iPad ได้ เป็นต้น สำหรับการสนทนาด้วยข้อความก็กระทำได้ผ่าน Zoom Chat ซึ่งก็มีความสามารถในการแบ่งสมาชิกออกเป็นห้อง ๆ ได้เช่นเดียวกับบริการอื่น ๆ อีกทั้งยังรองรับการส่งไฟล์ด้วย
หากกำลังมองหาซอฟต์แวร์สำหรับการประชุมทางไกลโดยเฉพาะ Zoom ก็เป็นตัวเลือกหนึ่งที่น่าสนใจด้วยคุณสมบัติในแพลนฟรีที่มีให้มากมาย อย่างที่กล่าวมาข้างบนนี้ก็เป็นของแพลนฟรีทั้งสิ้น แต่หากต้องการคุณสมบัติเพิ่มเติม เช่น URL พิเศษหรือขยายเวลาการประชุม ก็สามารถอัปเกรดได้
4. Hangouts/Hangouts Meet
Google Hangouts เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ใช้งานได้รวดเร็วและฟรี ไม่ได้มีฟีเจอร์มากมายซับซ้อน รองรับการสนทนาด้วยวิดีโอพร้อมกันสูงสุด 25 คน รองรับการแชร์หน้าจอและการพิมพ์ข้อความแชต หรือหากใช้ G Suite อยู่ก็จะสามารถเข้าไปใช้งาน Hangouts Meet ได้ ซึ่งรองรับถึง 100-250 คนตามประเภทแพลน และยังเพิ่มความสามารถในการบันทึกการสนทนาเข้ามาด้วย
จากเครื่องมือเหล่านี้ ที่ทางหลักสูตรดิจิทัลคอนเทนต์และสื่อได้นำมาแนะนำ เพื่อให้ทุกท่านได้เลือกนำไปปรับใช้ให้เหมาะสมทั้งการทำงาน การเรียนการสอน และอื่นๆ ที่สำคัญไปกว่านั้นเพื่อเป็นการปรับรูปแบบของการใช้เครืองมือให้เหมาะสมกับยุคดิจิทัล ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็สามารถที่จะทำงานหรือเรียนรู้ได้ รวมไปถึงจะเป็นการลดความเสี่ยงการได้รับเชื้อไวรัสจากการออกไปพบปะกับผู้คนในที่สาธารณะ ยังไงก็ขอให้ทุกท่านดูแลและป้องกันตัวเอง และหวังว่าในเร็ววันเราจะก้าวผ่านเรื่องราวร้ายๆไปด้วยกัน
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : https://techsauce.co/